Friday, September 21, 2012

ร้านขายยา ... คำถามที่พบบ่อย

1. ถามว่า ... ทิฟฟี่ ไทลินอล ซาร่า ต่างกันตรงไหน..... ?
    ตอบ ... Tylenol, Sara, ParaGPO ฯลฯ ตามกฏหมายไม่แตกต่างกัน คือเป็นยาที่มีส่วนผสมเป็นตัวยา    สำคัญ Paracetamol 500mg ต่อ1เม็ด เเล้วทำไมต้องมีหลายยี่ห้อก็เพราะว่าคนละบริษัทกันคับ(ก็เหมือนนมข้นหวาน มีหลายยี่ห้อ)เนื่องจาก paracetamol เป็นตัวยาที่หลุดสิทธิบัตรยาเเล้ว(บริษัทยาไหนจะผลิตก็ได้) ก็เลยมีหลายยี่ห้อมากๆในท้องตลาด ส่วนยี่ห้อดังๆก็ Tylenol ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ขายในUS(ของนอกว่างั้น)ส่วนSaraก็เป็นยี่ห่อที่มาการทำตลาดเเละโฆษณาเยอะทางสื่อต่างๆ จึงเป็นที่รู้จัก

อ้างอิง : พรเทพ (teeinkui)@pantip
              Tylenol - Frequency Asked Questions
              Paracetamol


2. ถามว่า ... ทำไมกินบางยี่ห้อรู้สึกว่าอาการดีขึ้น บางยี่ห้อรู้สึกเฉยๆ ? 
    ตอบ ... ถึงเเม้จะมีตัวยาสำคัญเหมือนกัน ในปริมาณที่เท่ากัน (paracetamol 500mg) เเต่องค์ประกอบอื่นๆของเเต่ละยี่ห้อนั้นก็เเตกต่างกันไป ซึ่งเป็นความลับหรือสูตรเฉพาะของตนเอง(เหมือนโค้กกับเป็ปซี่  รึว่า ไก่KFC กับไก่Mcdonald)  เเต่ไม่ว่าจะมีส่วนประกอบเเตกต่างกันยังไงก็ตามเเต่ เมื่อขอขึ้นทำเบียนยากับ อย. จะต้องยื่นข้อมูลการทดสอบประสิทธิภาพยาของยี่ห้อตนเอง เปรียบเทียบกับ ยายี่ห้อต้นแบบ  ว่ามีปริมาณตัวยาสำคัญไม่เเตกต่างกัน  มีการปลดปล่อยตัวยาสำคัญไม่เเตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย.ถึงจะพิจารณาอณุญาติให้ออกมาจำหน่ายได้

    ซึ่งปัจจัยที่มีผลให้เกิดความเเตกต่างของยาพาราเเต่ละยี่ห้อ ยกตัวอย่างเช่น
    - ความบริสุทธิ์ หรือคุณภาพของวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ซึ่งแหล่งวัตถุดิบมีหลายแหล่ง เช่น จีน อเมริกา   
       อินเดีย เยอรมันี ฝรั่งเศส เกาหลี ยี่ปุ่น
    - ส่วนประกอบอื่น(สารช่วย;excipient)เเต่ละยี่ห้อก็ใช้ต่างกันไป ซึ่งความเเตกต่างนี้ทำให้เกิดความ
      เเตกต่างของผลิตภัณฑ์ยาในเเง่ของ
             1.การเเตกตัวของเม็ดยา(disintegration)เมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหาร 
             2.การละลาย(dissolution)ของตัวยา 
             3.การดูดซึม(absorbtion)ของยาเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต

      Disintegration  คือการเเตกตัวของเม็ดยาเป็นการพื่มพื้นที่ผิวทำให้เพิ่มการละลาย เมื่อยาอยู่ในรูปสาร ละลายก็สามารถที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้  ลองนึกถึงยาที่ไม่มีการเเตกตัว  เม็ดเเข็งเหมือนหิน  ยามันจะละลายออกมาได้มั้ย

      Dissolution คือการละลายของตัวยาในของเหลวในทางเดินอาหาร ซึ่งขึ้นกับคุณสมบัติของตัวยาสำคัญว่ามีการละลายดีไหม เเต่ละแหล่งวัตถุดิบก็อาจมีสมบัติการละลายที่เเตกต่างกันบ้าง (ยาเดียวกัน เเต่อาจมีหลาย polymorphism)

      Absorbtion คือการดูดซึมยาผ่านทางเดินอาหารเข้าสู่กระเเสเลือด ขึ้นกับคุณสมบัติของตัวยาสำคัญเช่นกัน ว่ามีการดูดซึมดีเเค่ไหน เเต่ละแหล่งวัตถุดิบก็อาจมีสมบัติการละลายที่เเตกต่างกันได้  ถ้ามียาละลายเยอะก็ดูดซึมได้เยอะขึ้น

โดยสรุป   ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ยาที่ระบุว่ามีตัวยาสำคัญเดียวกัน เท่ากันได้ (เพราะถ้าขึ้นทะเบียนยาได้ถูกต้องเเล้วเเสดงว่าไม่มีความเเตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากยาต้นเเบบ) ก็เเล้วเเต่ความต้องการหรือความชอบส่วนบุคคลที่จะเลือกใช้นะคับ เคยกินยี่ห้อไหนดีก็กินคับ

อ้างอิง : พรเทพ (teeinkui)@pantip


3. ถามว่า ... ยาคุม 21 กับ 28 ต่างกันอย่างไร ?
    ตอบ ... ถ้ากินยาคุมแบบ 21 เม็ด เมื่อหมดแผงแล้วต้องเว้น 7 วัน , วันที่ 8 ถึงเริ่มกินเม็ดที่ 1 ใหม่
แต่ถ้ากินยาคุมแบบ 28 เม็ด เมื่อหมดเม็ดที่ 28 แล้วให้เริ่มกินเม็ดที่ 1 ต่อได้ทันที ซึ่ง 7 เม็ดที่เพิ่มเข้ามา บางยี่ห้อเป็นแป้ง บางยี่ห้อเป็นวิตามิน ที่ทำเป็น 28 เม็ด เพื่อให้เรากินต่อเนื่องแผงต่อแผง ไม่ต้องหยุดยา 7 วัน แล้วจึงเริ่มแผงใหม่


4. ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ..ยาคุมกำเนิด




    ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ..ยาคุมกำเนิด สำหรับคุณผู้หญิงที่กล้าๆ กลัวๆ การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือกำลังไม่มั่นใจว่าจะรับประทานได้ถูกต้อง เริ่มกันเลยดีกว่า

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน สามารถแบ่งตามชนิดของฮอร์โมน ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม และยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

     ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ชนิด ซึ่งได้จากการสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายของเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน (Progestrogen) ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนชนิดเดี่ยว ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ผู้ที่ยังคงให้นมบุตรอยู่ เพราะรับประทานยาคุมที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบนั้น จะลดปริมาณของน้ำนมได้ หรือผู้ที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งวิธีการรับประทานไม่ยุ่งยาก คือ รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ไม่ต้องมีช่วงหยุดรับประทานยา (ยาแผงละ 28 เม็ด เท่ากันทุกเม็ด) สำหรับในฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

 การทำงานของยาคุมกำเนิด
      ยาคุมกำเนิดจะอาศัยการทำงานของฮอร์โมนทั้งสองตัว มีกลไกหลายอย่างเพื่อป้องกันการปฏิสนธิ โดยยับยั้งไม่ให้ไข่ตก ลดการเคลื่อนที่ของไข่ตามท่อนำไข่และทำให้มูกบริเวณช่องคลอดเหนียวข้นขึ้น ทำให้อสุจิผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก ทำให้ผนังมดลูกชั้นใน (Endometrium) บางลงหรือฝ่อไปทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถฝังตัวได้
 
ประโยชน์ของการรับประทานยาคุมกำเนิด
      นอกเหนือจากการคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วยาคุมกำเนิดยังช่วยปรับประจำเดือนให้มาอย่างสม่ำเสมอ และมีปริมาณที่เหมาะสม สำหรับคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปริมาณน้อยหรือมากจนเกินไป อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาคุมกำเนิดช่วยได้

     นอกจากนั้นยาคุมกำเนิดยังลดกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนการมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome: PMS) เช่น การปวดท้องประจำเดือนมาก ปวดศีรษะ ท้องอืด ตัวบวม ที่เกิดจากระดับฮอร์โมนที่ไม่ปกติได้ด้วย ในทางการแพทย์อาจใช้ในการรักษาอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ที่เป็นสาเหตุของการปวดประจำเดือนรุนแรง และใช้ในการรักษาซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่บางชนิดได้อีกด้วย

     ยาคุมกำเนิดชนิดรวม แทบทุกตัวจะประกอบด้วยเอสโตรเจน คือ Ethinyl Estradiol โดยอาจมีปริมาณเอสโตรเจน ที่ ต่างกัน และจะแตกต่างกันที่ตัวโปรเจสโตรเจน ซึ่งโปรเจสโตรเจนกลุ่มใหม่ๆ บางตัวจะมีฤทธิ์ในการต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgen) เช่น Cyproterone acetate, Drospirenone ซึ่งช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมน ผิวมัน ผมมัน ขนดก ทำให้ลักษณะของผิวพรรณดีขึ้นได้ และบางตัวมีโครงสร้างของยาคล้ายกับยาขับปัสสาวะ เช่น Drospirenone ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำในร่างกาย ลดการบวมน้ำในช่วงของการมีประจำเดือนได้ ทำให้ดูเหมือนน้ำหนักตัวลดลง อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาเสมอ

ข้อห้ามและข้อควรระวังของการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
     กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ,สูบบุหรี่ และอายุมากกว่า 35 ปี, เคยมีประวัติหรือกำลังเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือด (Thromboembolic disorders) เป็นโรค ได้แก่ มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งอื่นๆ ที่เกี่ยวกับฮอร์โมน, เนื้องอกในตับ, เบาหวานที่มีอาการแทรกซ้อนทางหลอดเลือดร่วมด้วย (vascular complications) หรือเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes), โรคความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, เป็นโรคเลือดบางชนิด, เป็นโรคตับหรือโรคไต หากท่านมีโรคเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนเริ่มรับประทานยา

วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
     ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ แบบ 21 เม็ด โดยเป็นยาฮอร์โมนทุกเม็ด และ แบบ 28 เม็ด ซึ่งอีก 7 เม็ดที่เพิ่มมาคือแป้งหรือแลกโตส เพื่อป้องกันการนับผิดพลาดสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการนับให้ยุ่งยาก คือทานไปทุกวันไม่ต้องหยุดเลย

     การเริ่มรับประทานยาควรเริ่มในวันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดตั้งแต่แผงแรกของการรับประทาน หรือเริ่มได้ไม่เกินวันที่ 5 ของประจำเดือนและใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ร่วมด้วยในช่วง 7 วันแรกของการใช้ยาก็ได้ ที่แผงยามักจะมีวันของสัปดาห์กำกับอยู่ สามารถเริ่มให้ตรงกับวันที่เริ่มทานยา จะได้ใช้ประโยชน์จากแผงยาในการช่วยกันลืมได้

     การรับประทานยาสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้ แต่ต้องรับประทานในเวลาเดิมทุกๆ วัน โดยควรเลือกเป็นเวลาที่สะดวกและจะไม่ลืมทานยา อาจรับประทานหลังอาหารหรือก่อนนอน เพื่อลดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนที่อาจพบเมื่อรับประทานยาแผงแรกๆ โดยอาการดังกล่าวจะลดลงเมื่อรับประทานแผงต่อๆ ไป หากมีอาการมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา

สำหรับยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานครบ 21 วันแล้ว ต้องมีช่วงหยุดยา 7 วัน แล้วจึงเริ่มแผงใหม่ ซึ่งยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ดก็คือช่วงที่รับประทานเม็ดแป้งนั่นเอง โดยปกติจะมีประจำเดือนมาในช่วงนี้ แต่ไม่ว่าประจำเดือนจะหมดไปก่อนหรือยังไม่หมดเมื่อครบ 7 วันแล้ว ให้เริ่มรับประทานยาแผงต่อไปในวันที่ 8 ได้เลย

เมื่อลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
      การลืมรับประทานยาคุมกำเนิด หรือรับประทานไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับของฮอร์โมนไม่คงที่ และมีผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นเวลา 7 วัน บางรายอาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย โดยมีวิธีการรับประทานเมื่อลืมทานยา ดังนี้

เมื่อลืมรับประทานยา 1 เม็ด
      สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดต่อไปในเวลาเดิม หากนึกได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องรับประทานเม็ดต่อไปแล้ว สามารถรับประทานครั้งเดียว 2 เม็ด จากนั้นรับประทานครั้งละ 1 เม็ดตามเดิมในวันรุ่งขึ้น

เมื่อลืมรับประทานยา 2 เม็ด
       ให้แบ่งยาที่ลืม 2 เม็ดนั้น มารับประทานยาร่วมกับยาที่ต้องทานตามปกติ ครั้งละ 2 เม็ด เช่น ลืมทานยาวันจันทร์และอังคาร ให้ทานยาในวันพุธ 2 เม็ด และวันพฤหัส 2 เม็ด เป็นต้น จากนั้นจึงรับประทานครั้งละ 1 เม็ดตามเดิมในวันรุ่งขึ้น โดยต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน

เมื่อลืมรับประทานยา 3 เม็ด
       ควรหยุดยาแผงนั้น แล้วรอให้ประจำเดือนมาก่อน แล้วจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ในวันแรกของการมีประจำเดือน และใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย 7 วัน

     ยาคุมกำเนิดนั้นสามารถรับประทานต่อเนื่องได้นาน และสามารถกลับมามีบุตรได้หลังจากหยุดยา แต่เมื่อทานต่อเนื่องควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นระยะ เช่น ทุก 3-6 เดือน เพื่อความปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ และยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ต้องใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น
อ้างอิง : MarketPlus Magazine
              hitintrend



No comments:

Post a Comment